วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

สรุปเนื้อหาวิชา นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา สัปดาห์ที่ 4

สรุปเนื้อหาวิชา นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา

โดย : นายราชกัลป์  พรหมอาจ รหัสนักศึกษา      58723713202    เลขที่  2  หมู่ที่  2
ผู้สอน : อาจารย์ภัทรดร  จั้นวันดี


สัปดาห์ที่  4 วันเสาร์ที่  29  สิงหาคม พ.ศ. 2558

อ.ภัทรดร  ได้ให้นักศึกษาออกมานำเสนอการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้หน้าชั้นเรียนจำนวน 4 กลุ่ม ดังหัวข้อต่อไปนี้
1. ASSURE Model
2. Dick & Carey Model
3. Gerlach & Ely Model
4. KEMP Model
เมื่อนักศึกษาแต่ละกลุ่มจบการนำเสนอ จะมีการซักถามข้อสงสัย (ถาม-ตอบ)ระหว่างนักศึกษา และ อาจารย์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาของแต่ละ MODEL และ อ.ภัทรดร จะให้คำแนะนำเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น  ซึ่งกลุ่มของกระผมได้ KEMP Model : ได้ออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียนเป็นลำดับที่ 4   ซึ่งกระผมจะขอสรุปเนื้อหาของแต่ละ Model ที่ได้ฟังการนำเสนอดังนี้

1. ASSURE  Model



The ASSURE Modelเป็นรูปแบบจำลองของไฮนิคและคณะ(Heinich, and Others 1999)เป็นรูปแบบในวางแผนหรือออกแบบการสอนที่เน้นการใช้สื่อเป็นองค์ประกอบและเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งในการออกแบบการสอนนี้ ครูควรมีการวางแผนอย่างเป็นระบบเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่วางไว้ ซึ่งมีรูปแบบดังนี้
 Analyze Learners  (วิเคราะห์ผู้เรียน)
 State Objectives  (กำหนดวัตถุประสงค์)
 Select Methods, Media and Materials  (เลือกวิธีการ สื่อและวัสดุการเรียนการสอน)
 Utilize Media and Materials  (นำสื่อและวัสดุการเรียนการสอนไปใช้)
 Require Learner Participation  (การมีส่วนร่วมของผู้เรียน)
 Evaluate and Revise (การประเมินผล)

1.  วิเคราะห์ผู้เรียน (Analyze Learners) การวิเคราะห์ลักษณะของผู้เรียนนั้นจะทำให้คุณครูทราบว่าผู้เรียนมีความพร้อมในการเรียนมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้คุณครูต้องคำนึงถึงลักษณะทั่วไป เช่น อายุ ระดับความรู้ความสนใจ รูปแบบการเรียนที่ผู้เรียนชอบ  เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้คุณครูเลือกเนื้อหาและสื่อที่จะนำมาใช้ ให้เหมาะสมกับผู้เรียนได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น
2.  กำหนดวัตถุประสงค์ (State Objectives) การกำหนดวัตถุประสงค์เป็นสิ่งที่ตั้งขึ้นเพื่อคาดหวังว่าผู้เรียนจะสามารถบรรลุถึงสิ่งนั้นมากน้อยเพียงใด มีความรู้ความสามารถอะไรเมื่อเรียนเนื้อหานี้จบแล้ว ซึ่งอาจนำมาจากประสบการณ์ของคุณครูเอง จากหลักสูตรในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่รับผิดชอบ
3.  เลือกวิธีการ สื่อและวัสดุการเรียนการสอน (Select Methods, Media and Materials) หลังจากที่คุณครูทราบลักษณะของผู้เรียนเป็นรายบุคคล มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนแล้วขั้นตอนต่อไปก็คือเลือกวิธีการ สื่อไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งคุณครูอาจจะเลือกจากสื่อที่มีอยู่แล้วซึ่งได้รับจัดสรรจากหน่วยงานต้นสังกัด หรือได้รับบริจาค หรือจัดซื้อเอง หรือผลิตขึ้นเอง หรือดัดแปลงจากสื่อที่มีอยู่เพื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียนกับเนื้อหาในรายวิชานั้นๆ
4.  นำสื่อและวัสดุการเรียนการสอนไปใช้ (Utilize Media and Materials) เป็นขั้นตอนการวางแผนการนำวิธีการและสื่อวัสดุไปใช้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้คุณครูต้องจัดเตรียมชั้นเรียน สิ่งอำนวยความสะดวกให้พร้อม ซึ่งอาจจะให้ผู้เรียนใช้สื่อรายบุคคล เรียนรวมกันเป็นกลุ่มย่อย
5.  การมีส่วนร่วมของผู้เรียน (Require Learner Participation)  เป็นขั้นตอนการกระตุ้นให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งผู้เรียนจะมีการตอบสนองหรือไม่มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับสื่อที่นำมาใช้ และการวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของคุณครูด้วย เมื่อผู้เรียนมีการตอบสนองคุณครูควรให้การเสริมแรงทันทีเพื่อให้ผู้เรียนทราบว่า ตัวเองมีความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้องหรือไม่
6.  การประเมินผล (Evaluate and Revise) เมื่อกระบวนการเรียนการสอนเสร็จสิ้น จะเป็นการประเมินผลเพื่อวัดประสิทธิผลในการเรียน โดยเน้นการวัดทั้งกระบวนการเรียนการสอน การวัดให้วัดว่าผู้เรียนได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้หรือไม่ สิ่งที่คุณครูอยากให้ผู้เรียนได้ กับสิ่งที่ผู้เรียนเป็นอยู่ สอดคล้องกันหรือยัง เพื่อนำข้อมูลไปวางแผนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


2. Dick & Carey Model (1985)




ดิคและคาเรย์ (Dick and Carey) ได้เสนอรูปแบบระบบการสอนสรุปรวมได้  3 องค์ประกอบคือ
1.  กำหนดผล (จุดมุ่งหมาย) ของการสอน
2.  การพัฒนาการสอน
3.  การประเมินการเรียนการสอน

จากองค์ประกอบหลักทั้ง 3 ประการนี้ ดิคและคาเรย์ ได้แบ่งกิจกรรมการจัดระบบการสอนออกเป็น 10 ขั้นดังนี้
 1. การกำหนดความมุ่งหมายการสอน (identify instructional goals)  เป็นการกำหนดความมุ่งหมายการสอน ซึ่งต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับความมุ่งหมายทางการศึกษา จากนั้นก็ทำการวิเคราะห์ความจำเป็น (need analysis) และ วิเคราะห์ผู้เรียน
 2. การวิเคราะห์การสอน (conduct instructional analysis) ขั้นตอนนี้อาจทำก่อนหรือหลังขั้นที่ 3 หรืออาจจะทำ ไปพร้อม ๆ กันก็ได้  การวิเคราะห์การสอนเป็นการวิเคราะห์ภารกิจ หรือวิเคราะห์ขั้นตอนการดำเนินการสอน ในเรื่องนี้ กาเย่ (Gagne. 1985) ได้เสนอแนะว่าการวิเคราะห์การสอนอีกลักษณะหนึ่งก็คือ information-processing analysis ตามแนวคิดของกาเย่นั้นเอง  ผลการวิเคราะห์การสอนที่ได้ จะเป็นการจัดหมวดหมู่ของภารกิจ (task classification) ตามลักษณะของจุดมุ่งหมายการสอน
 3. ศึกษาพฤติกรรมเบื้องต้นและคุณลักษณะของผู้เรียน (identify entry behaviors and characteristics)
 4. เขียนจุดมุ่งหมายการเรียน (write performance objectives) ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายเฉพาะ หรือจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรมและสอดคล้องกับความมุ่งหมายการสอน จุดมุ่งหมายการเรียน
 5. สร้างแบบทดสอบอิงเกณฑ์ (develop criterion referenced test) เพื่อประเมินการเรียนการสอน
 6. พัฒนายุทธศาสตร์การสอน (develop instructional strategy) เป็นแผนการสอน หรือเหตุการณ์การสอนที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามจุดมุ่งหมายของการสอน
 7. เลือกและพัฒนาวัสดุการเรียนการสอน (develop and select instructional materials) เป็นการเลือก และพัฒนาสื่อการสอนทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโสตทัศน์
 8. ออกแบบและจัดการประเมินระหว่างเรียน (design and conduct summative evaluation)
 9. ออกแบบและจัดการประเมินหลังเรียน (design and conduct summative evaluation)
10.แก้ไขปรับปรุงการสอน (revise instruction) เป็นขั้นการแก้ไขและปรับปรุงการสอน นับตั้งแต่ขั้นที่ 2   จนถึงขั้นที่ 8


3. Gerlach & Ely Model


1. การกำหนดวัตถุประสงค์ (specification of objectives)
2. การกำหนดเนื้อหา (specification of content)
3. การประเมินผลพฤติกรรมเบื้องต้น (assessment of entry behaviors)
4. การกำหนดกลยุทธของวิธีการสอน (determination of strategy)
5. การจัดแบ่งกลุ่มผู้เรียน (organization of groups)
6. การกำหนดเวลาเรียน (allocation of time)
7. การจัดสถานที่เรียน (alloction of space)
8. การเลือกสรรทรัพยากร (allocation of resources)
9. การประเมิน (evaluation of performance)
10. การวิเคราะห์ข้อมูลย้อนกลับ (analysis of feedback)





4. KEMP Model




ภาพ ระบบการสอนของเคมพ์ (Jerrold/Kemp)
เคมพ์ (Jerrold/Kemp) แบ่งขั้นตอนในการพิจารณาการจัดระบบการสอนเป็นสาระสำคัญ 10 ประการ คือ
1. ความต้องการในการเรียน จุดมุ่งหมายในการสอน สิ่งสำคัญ/ข้อจำกัด (Learner Needs, Goals, Priorities, Constraints) การประเมินความต้องการในการเรียน นับว่ามีส่วนสำคัญในการกำหนดจุดมุ่งหมายและโปรแกรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการนั้น กล่าวได้ว่าการประเมินความต้องการการกำหนดจุดมุ่งหมายและการเผชิญกับ ข้อจำกัดต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญขั้นแรกในการเริ่มต้นของกระบวนการออกแบบการสอนจึงจัดอยู่ในศูนย์กลาง ของระบบ และนับว่าเป็นพื้นฐานของข้อปลีกย่อยต่าง ๆ 9 ประการในกระบวนการออกแบบระบบการสอน

2. หัวข้อเรื่อง ภารกิจ และจุดประสงค์ทั่วไป (topics-job tasks purposes) ในการสอนหรือโปรแกรมของการอบรมที่จัดขึ้นนั้นย่อมประกอบด้วยหัวข้อเรื่องของวิชาซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานความรู้ และ/หรือหัวข้องานที่เป็นพื้นฐานทางทักษะด้านกายภาพ

3. ลักษณะของผู้เรียน (learner characteristics) เป็นการสำรวจเพื่อพิจารณาถึงภูมิหลังด้านสังคม การศึกษา และสภาพเศรษฐกิจของผู้เรียนแต่ละคน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการจัดสภาพการเรียนรู้และวิธีการเรียนให้เหมาะสมตามความสามารถและความสนใจของผู้เรียน
4. เนื้อหาวิชาและการวิเคราะห์ภารกิจ (subject content, task analysis) ในการวางแผนการสอน เนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากอย่างหนึ่ง โดยที่ต้องมีการเรียบเรียงเนื้อหาตามลำดับขั้นตอนให้เหมาะสม และง่ายต่อความเข้าใจของผู้เรียน เนื้อหาวิชาและการวิเคราะห์งานนี้สามารถใช้เพื่อเป็นเกณฑ์ในการกำหนดวัตถุประสงค์ หรือเพื่อจัดหาโสตทัศนูปกรณ์ และเพื่อเป็นการออกแบบเครื่องมือทดสอบเพื่อประเมินการเรียนก็ได้

5. วัตถุประสงค์ของการเรียน (learning objectives) เป็นการตั้งวัตถุประสงค์ของการเรียนว่าผู้เรียนควรรู้หรือสามารถทำอะไรได้บ้างเมื่อเรียนบทเรียนนั้นจบแล้ว นอกจากนั้นผู้เรียนจะต้องมีพฤติกรรมอะไรบ้างที่สามารถวัด หรือสังเกตเห็นได้ วัตถุประสงค์นี้จึงต้องเป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมเพื่อเป็นการวางโครงร่างของการสอน นับว่าเป็นการช่วยในการวางแผนการสอนและการจัดลำดับเนื้อหาวิชา ตลอดจนเป็นแนวทางในการประเมินผลผู้เรียนและประสิทธิภาพของการเรียนการสอน

6. กิจกรรมการเรียนการสอน (teaching / learning activiies) ในการวางแผนและเลือกกิจกรรมการเรียนการสอนนั้นผู้สอนควรจะคำนึงถึงแผนสำคัญ 3 อย่างคือ การสอนเนือ้หาในชั้นเรียนควรเป็นรูปแบบใด วิธีการเรียนของผู้เรียนควรเป็นอย่างไร และกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนควรมีอะไรบ้าง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ย่อมขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เช่น ควรมีการเสนอเนื้อหาการเรียนในชั้นแก่ผู้เรียนพร้อมกันในคราวเดียวทั้งหมด หรือควรให้เป็นการเรียนรายบุคคล หรือการสร้างเสริมประสบการณ์แก่ผู้เรียนนั้นควรจะใช้วิธีการอภิปรายหรือวิธีการทำกิจกรรมกลุ่ม เป็นต้น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมย่อมขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ต่างๆ หลายประการ นับตั้งแต่จุดมุ่งหมาย ลักษณะของผู้เรียน เนื้อหาวิชา และการวัดผล โดยที่ผู้สอนต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้เรียนว่ามีขนาดเท่าใด เพื่อที่จะสามารถจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของวิชาและความสนใจของกลุ่ม นอกจากนั้นการเลือกวัสดุอุปกรณ์สื่อการสอนก็ต้องให้สัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนการสอนด้วย

7. ทรัพยากรในการสอน (instructional resources) ทรัพยากรในที่นี้หมายถึงสื่อการสอนที่จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้กิจกรรมการเรียนการสอนเป็นไปอย่างดี มีประสิทธิภาพ สื่อต่างๆ เหล่านี้สามารถแยกได้เป็น 6 ประเภทคือ ของจริง สื่อที่ไม่ใช้เครื่องฉาย เครื่องเสียง ภาพนิ่งที่ใช้กับเครื่องฉาย ภาพเคลื่อนไหวที่ใช้กับเครื่องฉาย และการใช้สื่อประสม ผู้สอนต้องเลือกสื่อมาใช้ให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงกลุ่มผู้เรียน และสถานการณ์การเรียนการสอนด้วย

8. บริการสนับสนุน (support services) บริการสนับสนุนรวมถึงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับงบประมาณของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งด้วยว่าจะมีงบประมาณในการจ้างบุคลากรและซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อใช้ในการศึกษามากน้อยเพียงใด บริการนี้รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการให้คำปรึกษาและวางแผนของนักวิชาการ การทดลองผลงาน การฝึกอบรม บริการสนับสนุนแบ่งได้เป็น 6 ประเภท คือ งบประมาณ สถานที่ สื่อวัสดุ อุปกรณ์ บุคลากร และตารางที่เหมาะสมในการทำงาน

9. การประเมินผลการเรียน (learning evaluation) เป็นการประเมินผลว่าผู้เรียนนั้นได้รับความรู้ สามารถบรรลุตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้หรือไม่เพียงใด โดยการสร้างเครื่องมือทดสอบและวัดผล ทั้งนี้เพื่อเป็นการทราบข้อบกพร่องต่างๆ ของระบบการสอน และเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขระบบการสอน

10.การทดสอบก่อนการเรียน (pretesting) เป็นการทดสอบก่อนว่าผู้เรียนมีประสบการณ์เดิม และพื้นความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะสอนใหม่อย่างไรบ้าง หรือมีความรู้ความชำนาญอะไรบ้างเกี่ยวกับวิชาที่เรียนมาแล้ว การประเมินผลก่อนการเรียนเป็นเครื่องชี้ความพร้อมของผู้เรียนว่า ควรจะได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมอีกบ้างจากความรู้เก่าที่เคยเรียนมา
ในการใช้ระบบการสอนทั้ง 10 ขั้นตอนนี้ ผู้สอนสามารถจะเริ่มใช้ในขั้นตอนใดก่อนก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับกัน และสามารถพัฒนาการสอนในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นได้ด้วยการใช้การประเมินผล 2 ลักษณะคือ การประเมินผลในระหว่างดำเนินงานพัฒนาระบบการสอน (formative evaluation) และการประเมินผลรวบยอดหลังจากการใช้ระบบการสอนนั้นสิ้นสุดลง (summative evaluation) ทั้งนี้เพื่อเป็นการปรับปรุงระบบการสอนให้ใช้ได้ดีและมีคุณภาพ



ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
          ความรู้เกี่ยวกับโลก (Global Awareness)
          ความรู้เกี่ยวกับการเงิน เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ (Financial, Economics, Business and Entrepreneurial Literacy)
          ความรู้ด้านการเป็นพลเมืองที่ดี (Civic Literacy)
          ความรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy)
          ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Literacy)
ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม จะเป็นตัวกำหนดความพร้อมของนักเรียนเข้าสู่โลกการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่
        ความริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม
        การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา
        การสื่อสารและการร่วมมือ
ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี เนื่องด้วยในปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสื่อและเทคโนโลยีมากมาย ผู้เรียนจึงต้องมีความสามารถในการแสดงทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและปฏิบัติงานได้หลากหลาย โดยอาศัยความรู้ในหลายด้าน ดังนี้
        ความรู้ด้านสารสนเทศ
        ความรู้เกี่ยวกับสื่อ
        ความรู้ด้านเทคโนโลยี
ทักษะด้านชีวิตและอาชีพ ในการดำรงชีวิตและทำงานในยุคปัจจุบันให้ประสบความสำเร็จ นักเรียนจะต้องพัฒนาทักษะชีวิตที่สำคัญดังต่อไปนี้
        ความยืดหยุ่นและการปรับตัว
        การริเริ่มสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเอง
ทักษะสังคมและสังคมข้ามวัฒนธรรม
         การเป็นผู้สร้างหรือผู้ผลิต (Productivity) และความรับผิดชอบเชื่อถือได้ (Accountability)
         ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ (Responsibility)
ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 ที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ การเรียนรู้ 3R x 7C
3R คือ Reading (อ่านออก), (W)Riting (เขียนได้), และ (A)Rithemetics (คิดเลขเป็น)
7C ได้แก่
   Critical Thinking and Problem Solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา)
   Creativity and Innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม)
   Cross-cultural Understanding (ทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์)
   Collaboration, Teamwork and Leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ)
   Communications, Information, and Media Literacy (ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ)
   Computing and ICT Literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
   Career and Learning Skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้)

       แนวคิดทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และกรอบแนวคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นการกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ในการจัดการเรียนรู้ โดยร่วมกันสร้างรูปแบบและแนวปฏิบัติในการเสริมสร้างประสิทธิภาพของการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยเน้นที่องค์ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญและสมรรถนะที่เกิดกับตัวผู้เรียน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตในสังคมแห่งความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยจะอ้างถึงรูปแบบ (Model) ที่พัฒนามาจากเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership For 21st Century Skills) (www.p21.org ) ที่มีชื่อย่อว่า เครือข่าย P21  ซึ่งได้พัฒนากรอบแนวคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะเฉพาะด้าน ความชำนาญการและความรู้เท่าทันด้านต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อความสำเร็จของผู้เรียนทั้งด้านการทำงานและการดำเนินชีวิต




กรอบแนวคิดเชิงมโนทัศน์สำหรับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นที่ยอมรับในการสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Model of 21st Century Outcomes and Support Systems) ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเนื่องด้วยเป็นกรอบแนวคิดที่เน้นผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน (Student Outcomes) ทั้งในด้านความรู้สาระวิชาหลัก (Core Subjects) และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จะช่วยผู้เรียนได้เตรียมความพร้อมในหลากหลายด้าน รวมทั้งระบบสนับสนุนการเรียนรู้ ได้แก่มาตรฐานและการประเมิน หลักสูตรและการเยนการสอน การพัฒนาครู สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนในศตวรรษที่ 21
       การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ต้องก้าวข้าม “สาระวิชา” ไปสู่การเรียนรู้ “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” (21st Century Skills) ซึ่งครูจะเป็นผู้สอนไม่ได้ แต่ต้องให้นักเรียนเป็นผู้เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยครูจะออกแบบการเรียนรู้ ฝึกฝนให้ตนเองเป็นโค้ช (Coach) และอำนวยความสะดวก (Facilitator) ในการเรียนรู้แบบ PBL (Problem-Based Learning) ของนักเรียน ซึ่งสิ่งที่เป็นตัวช่วยของครูในการจัดการเรียนรู้คือ ชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (Professional Learning Communities : PLC) เกิดจากการรวมตัวกันของครูเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำหน้าที่ของครูแต่ละคนนั่นเอง






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น